elearningsw http://elearningsw.siam2web.com/

หลักสูตรการฝึกภาคปฏิบัติ

 

               การศึกษาสังคมสงเคราะห์มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตบัณฑิตให้สามารถบูรณาการองค์ความรู้ ทัศนคติ และทักษะทางวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ที่เชื่อมโยงการปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ ให้มีความสามารถพัฒนากลวิธีการทำงานใหม่ๆ และประยุกต์ใช้เครื่องมือการทำงานทางวิชาชีพในการทำงานกับคน องค์กร ท้องถิ่น ชุมชน สังคม ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค สากล รวมทั้งสามารถทำงานแบบสหวิชาชีพได้อย่างเหมาะสม

          การศึกษาในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ประกอบด้วยทฤษฏีและภาคปฏิบัติ การฝึกภาคปฏิบัติเป็นหัวใจของการศึกษาสังคมสงเคราะห์ เพราะจะเสริมสร้างให้นักศึกษามีความรู้ เจตคติและทักษะที่เหมาะสมต่อการเป็นนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ รวมทั้งเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างความรู้และการปฎิบัติ ซึ่งสามารถจัดการความรู้ได้จากการปฎิบัติงานจริง

การฝึกภาคปฎิบัติในหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ระดับปริญญาตรีประกอบด้วย

 

ส่วนที่ 1 วิชาบังคับภาคปฏิบัติ 3 วิชาได้แก่

สค. 201 วิชาดูงานและสัมมนา                            3 หน่วยกิจ
SW 201 Field Visits and Seminar


เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การปฏิบัติงานขององค์กรสังคมสงเคราะห์ของภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน มุ่งให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด นโยบาย การบริหารงาน และการดำเนินงานขององค์กรที่มีความหลากหลายของสังคมไทย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เสริมสร้างทัศนคติทางวิชาชีพที่ดีของนักศึกษาและจริยธรรมของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
(บรรยาย และดูงาน สัปดาห์ละ
3 ชั่วโมง)


สค
. 202  การฝึกภาคปฏิบัติ 1                             6หน่วยกิจ
SW 202 Field Work Practicum 1


ฝึกให้นักศึกษาได้ใช้วิธีการสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย กลุ่ม นำไปใช้ในการปฎิบัติงานขององค์การ ฝึกให้นักศึกษาเรียนรู้แนวคิด ทฤษฎี หลักการ ทักษะทางวิชาชีพ โดยเฉพาะการนำวิธีการสังคมสงเคราะห์เฉพาะแบบผสมผสานไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานที่ให้บริการ ฝึกให้นักศึกษารู้จักวิเคราะห์ เชื่อมโยงการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์แบบผสมผสาน การนำเสนอแนวคิดเพื่อปรับปรุงทั้งวิธีการให้บริการและการพัฒนาระบบสวัสดิการใหม่ๆที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในระดับต่างๆ ตัวอย่างหน่วยงานฝึกงาน เช่น สหทัยมูลนิธิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รังสิต มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก (ฝึกภาคสนาม 270 ชั่วโมงตลอดภาคการศึกษา)


สค
.301 การฝึกภาคปฏิบัติ 2                               6หน่วยกิจ
SW 301 Field Work Practicum 2

 

ฝึกให้นักศึกษาได้นำวิธีการสังคมสงเคราะห์ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานกับชุมชนเมืองหรือชนบท สามารถศึกษาชุมชน วิเคราะห์ชุมชน การวางแผนดำเนินโครงการ การปฏิบัติตามแผนการ การประเมินผลการดำเนินงาน โดยนำแนวคิด ทฤษฎี หลักการและวิธีการสังคมสงเคราะห์แบบผสมผสานไปใช้ในการศึกษา ฝึกให้นักศึกษาเกิดทักษะการทำงานกับชุมชน การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการปฏิบัติงานชุมชนทุกขั้นตอน การเรียนรู้กลยุทธ์ใหม่ในการปฏิบัติงานกับชุมชน เช่น สำนักงานเขตบางกอกน้อย องค์กรบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา  ศูนย์บริการสาธารณสุข บางแค โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิเด็ก กาญจนบุรี
(ฝึกภาคสนาม
270 ชั่วโมงตลอดภาคการศึกษา)

ส่วนที่ 2 วิชาเลือกในสาขา 1 วิชา ได้แก่

สค. 405 การฝึกภาคปฏิบัติ 3                              6หน่วยกิจ

SW 405 Field Work Practicum 3

ฝึกให้นักศึกษาได้ใช้วิธีการสังคมสงเคราะห์ โดยนำแนวคิด ทฤษฎี หลักการและวิธีการสังคมสงเคราะห์แบบผสมผสานไปใช้ในการศึกษาไปใช้กับองค์กรหน่วยงานที่ซับซ้อน การเรียนรู้กลยุทธ์ กลวิธีการทำงานระหว่างการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์โดยตรงกับโดยอ้อม ทักษะการปฏิบัติงานชั้นสูงตามความสนใจทั้งในและต่างประเทศ ฝึกให้นักศึกษาสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆในการปฏิบัติงานทางสังคมสงเคราะห์กับหน่วยงาน

(ฝึกภาคสนาม 270 ชั่วโมงตลอดภาคการศึกษา)

นักศึกษา มีหน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้

1.      ปฏิบัติตามระเบียบการฝึกภาคปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

2.      ฝึกภาคปฏิบัติในฐานะเป็นผู้เรียนรู้งานทุกๆด้าน ทั้งระเบียบข้อบังคับนโยบายของหน่วยงาน ศึกษา

         ชุมชน ทดลองฝึกภาคปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่และภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

3.      ในขณะฝึกภาคปฏิบัติจะต้องปฏิบัติตนและยึดมั่นในจรรยาบรรณของนักสังคมสงเคราะห์วิชาชะ

นำข้อมูลต่างๆที่ได้จากการศึกษาเรียนรู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติกับอาจารย์นิเทศภาคสนาม เพื่อร่วมกับวิเคราะห์สถานการณ์ทำให้เกิดปัญหาและความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างการถอดบทเรียนจากการฝึกภาคปฏิบัติ

 
ตัวอย่างที่ 
1  

การได้ฝึกภาคปฏิบัติ ณ สหทัยมูลนิธิในโครงการฟื้นฟุสภาพครอบครัวนั้น นักศึกษาได้รับประสบการณ์ด้านการทำงานสังคมสงเคราะห์มากมาย จากการสังคมสงเคราะห์ภาคเอกชนที่มีบริการช่วยเหลือเด็กอย่างครบวงจร มีการปฏิบัติงานที่จริงจัง ให้ผู้ใช้บริการได้รับการฟื้นฟูครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นผลได้จริง นักศึกษาเห็นบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ที่เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ชำนาญด้านเด็กและครอบครัว เป็นต้นแบบอย่างที่ดี

ให้นักศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งเก็บไปเป็นแรงจูงใจในการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ต่อไป

สิ่งสำคัญจากการดำเนินงาน คือการที่นักศึกษาได้ทดลองนำความรู้ทางสังคมสงเคราะห์ได้แก่ แนวคิด ทฤษฏี หลักการและวิธีการกระบวนการทางสังคมสงเคราะห์ที่ได้ร่ำเรียนมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการในหน่วยงาน เห็นการประยุกต์ เชื่อมโยงที่จะทำให้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในการทำงานครั้งต่อไป

นอกจากนี้ระหว่างการทำงาน นักศึกษายังได้เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรที่มีความยืดหยุ่น จากความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น สามัคคี จนทำให้สหทัยมูลนิธิเป็นองค์กรที่เข้มเเข็งองค์กรหนึ่ง  นักศึกษาสามาระที่จะปรับตัวใช้ชีวิตการทำงานให้เข้ากับองค์กรได้ รู้จักการวางบทบาทในการปฏิบัติตนต่อผู้ใช้บริการ ผู้ร่วมงาน วัฒนธรรมขององค์กรนั้น ตลอดจนเรียนรู้การวางตนให้เหมาะสม ทั้งการเคารพต่ออาจารย์ภาคสนาม ผู้ใช้บริการ พนักงานทุกคนและเพื่อนผู้ร่วมฝึกงานที่มาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันและต่างมหาวิทยาลัย  เรียนรู้ที่จะปรับตนเองในการเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น มีวินัยตรงต่อเวลา มีน้ำใจเอาใจใส่หมั่นสาใจ  และรับผิดชอบในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้งานอยู่เสมอ

การที่นักศึกษามีโอกาสได้สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ใช้บริการเป็นรายบุคคล ได้ดำเนินกิจกรรมกลุ่มเอง ซึ่งก่อนหน้านั้น นักศึกษามีโอกาสได้สังเกต ทั้งการทำกิจกรรมกลุ่ม เช่น กลุ่มแม่เยี่ยม กลุ่มนมผง และการสังเกตการช่วยเหลือรายบุคคล ของนักสังคมสงเคราะห์ผู้มีประสบการณ์ ก่อนที่จะได้ปฏิบัติงานด้วยตนเอง ทำให้นักศึกษาได้มองเห็นทักษะ เทคนิค วิธีการ ที่จะสามารถหยิบยืมมาประยุกต์ใช้เมื่อดำเนินการปฏิบัติงานเอง

ท้ายสุดนี้ประโยชน์สูงสุดที่ได้รับจากการฝึกภาคปฏิบัติ คือประสบการณ์การทำงาน
ที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น การเรียนรู้แต่ในห้องเรียนได้แต่ทำให้เราเข้าใจการทำงานสังคมสงเคราะห์เพียงผิวเผินเท่านั้น แต่การได้ปฏิบัติงานจริงจะอะไรที่นอกเหนือกว่าตำราเรียน
ให้เราเห็นการทำงานในภาพจริง และเชิงลึกอย่างไม่มีตำราไหนสอนเราได้

ผลของการฝึกภาคปฏิบัติคือนอกจากนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ เรียนรู้การทำงานสังคมสงเคราะห์อย่างจริงจังแล้ว การฝึกงานของนักศีกษายังช่วยแบ่งเบาภาระงานที่มากมายบางส่วนของนักสังคมสงเคราะห์ ได้อีกด้วย

ประสบการณ์ดีๆและความรู้ที่ได้จากสหทัยมูนิธินี้จะให้ข้าพเจ้ามีการพัฒนาความคิด เสริมวุฒิภาวะของตน และเข้าใจคนอื่นในสังคมได้มากขึ้น

 

ตัวอย่างที่ 2

          การมาฝึกงานในชุมชนห้วยสะพานสามัคคี กาญจนบุรี จุดมีประสงค์เพื่อที่เราจะได้เข้าใจคนในท้องที่ เรียนรู้วิถีชีวิต บทบาทหน้าที่กระบวนการจัดการชุมชน รวมทั้งกระทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งการเข้าถึงคือทักษะที่ข้าพเจ้าได้นำไปใช้อย่างมาก เข้าถึงในที่นี้คือการทำความรู้จักกับชุมชน ทำความรู้จัก ชาวบ้าน กายภาพพื้นที่ ประเพณีวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อ เพื่อนำไปสู่การเข้าใจชุมชนในการสามารถกระทำสิ่งที่ชุมชนคาดหวังให้บังเกิดผล

          การใช้เครื่องมือ การใช้ทักษะทางสังคมสงเคราะห์ คือสะพานที่ทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ได้ ขั้นแรกคือทักษะ การสร้างความสัมพันธภาพ หมั่นร่วมงานกับชาวบ้านให้บ่อย ไม่ว่าจะจัดพิธีหรือมีประเพณีอะไรเราต้องไปเข้าร่วมกับเขาเพื่อให้ชาวบ้านรู้จักเรา จำเราได้

ไปพูดคุยกับชาวบ้าน ช่วยเหลืองานต่างๆ ร่วมทำกิจกรรมต่างๆกับชาวบ้านสร้างความสนิทสนม ระหว่างนั้นอย่าลืมสังเกตวิเคราะห์สิ่งที่เราเห็น ประกอบกับฟังเสียงชาวบ้านให้เกิดการเข้าใจ

ในสิ่งที่เรากำลังวิเคราะห์ ดังเช่นครั้งหนึ่งข้าพเจ้ามีโอกาสไปร่วมงานบวช ไปช่วยเตรียมอาหารเลี้ยงอาหาร ระหว่างทำอาหารก็ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ทำอาหารอยู่ข้างเคียง ทำให้ข้าพเจ้าได้ทราบประวัติอย่างคร่าวๆของชาวบ้านท่านนั้น ได้รู้ที่มาที่ไปของประเพณีงานบวชที่ว่าทำไมนาคต้องขี่ม้าระหว่างแห่ขบวนบวช ได้รู้ลำดับความสัมพันธ์เครือญาติของชาวบ้านบางส่วน รวมถึงรับรู้ความคิดด้านการเมือง ส่งผลให้นำข้อมูลที่ได้ ไปวิเคราะห์ชุมชนให้เข้าใจยิ่งขึ้น

นอกจากนี้เครื่องมือคือสิ่งที่ใช้ร่วมกับทักษะให้ได้มาซึ่งความเข้าใจชุมชนเช่นกัน แผนที่เดินดิน ปฏิทินชุมชน การเก็บข้อมูลแบบ Snowball คือทักษะใหญ่ๆที่ข้าพเจ้าได้ใช้มากที่สุด

v  แผนที่เดินดิน สร้างความเข้าใจโครงสร้างชุมชน ทั้งด้านจำนวนประชากร อาณาเขตพื้นที่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ สภาพทางสังคม การเมืองการปกครอง

v  ปฏิทินชุมชนนำไปสู่การเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน กิจกรรมชุมชน ห้วงเวลา จังหวะชีวิตชุมชน ช่วยในการวางแผนงานชุมชนดีขึ้น

v  ทักษะการเก็บข้อมูลแบบ Snowball ทำให้รู้จักเครือข่ายของผู้ที่จะให้ความรู้ในเรื่องที่เราศึกษา

แต่การศึกษาชุมชนจะไม่ประสบผลสำเร็จเลยถ้าขาดการทำงานเป็นทีม ข้าพเจ้าได้เรียนรู้หลักการทำงานร่วมกันจากเพื่อนๆฝึกงาน เช่นว่าต้องมีการวางแผนก่อน ตั้งเป้าหมายว่าเราจะศึกษาชุมชนในเรื่องต่างๆดังนี้ เช่น ข้อมูลชุมชน กลุ่มอาชีพต่างๆของชุมชน สถานที่ท่องเที่ยวชุมชน จัดแบ่งงานตามความถนัดแล้วดำเนินงานตามแผน ระหว่างนั้นก็ปรับปรุงแก้ไขงานเป็นระยะประชุมระดมแสดงความคิดเห็นต่างๆเพื่อให้งานออกมามีคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกฝนการแก้ปัญหาเมื่องานที่วางแผนไว้มีอุปสรรค

สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้เพิ่มพูนประสบการณ์อันมากมายแก่ข้าพเจ้าในเรื่องของการมีความรู้ ความเข้าใจการนำหลักการทักษะ และวิธีการสังคมสงเคราะห์ไปใช้ในการทำงานกับคน กับชุมชนในพื้นที่จริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตัวข้าพเจ้าต่อการเป็นนักสังคมสงเคราะห์มืออาชีพในอนาคตได้

 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 3,920 Today: 3 PageView/Month: 6

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...